วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยธนบุรี





สภาพทั่วไปก่อนการก่อตั้งกรุงธนบุรี
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยอยู่ 417 ปี (พ.ศ.1893-2310) ในระยะเวลาอันยาวนานนี้กรุงศรีอยุธยาได้ก้าวจากการเป็นอาณาจักรเล็กๆ มาเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ตลอดจนศาสนา วัฒนธรรม ศิลปกรรมต่างๆ ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมลงตามลำดับตั้งแต่ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นระหว่างพระราชวงศ์และขุนนาง เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่แตกความสามัคคีแย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้กำลังทหารแยกออกเป็นกลุ่มๆ ยิ่งบ้านเมืองว่างศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานาน กองทัพก็ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะสู้รบ พระมหากษัตริย์เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ทรงพระปรีชาสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่ศัตรูของไทยคือ พม่ามีกำลังและอำนาจมากขึ้นภายใต้พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์อลองพญา
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 ได้เกิดมีการกบฏขึ้นในหัวเมืองมอญ พม่าได้ยกกองทัพเข้าตีหัวเมืองมอญที่เมืองมะริดและตะนาวศรี แล้วเคลื่อนทัพเข้ามาในดินแดนไทยทางด่านสิงขรโดยปราศจาการต่อต้านจากฝ่ายไทย จนสามารถเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาได้ ถ้าจะวิเคราะห์สงครามครั้งนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของพม่าแต่เดิมนั้น เพียงเพื่อต้องการปราบปรามพวกกบฏชาวมอญ ซึ่งหนีมาอยู่ที่เมืองมะริดและตะนาวศรีเท่านั้น ยังมิได้ตั้งใจจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อพม่าสามารถตีเมืองมะริดและตะนาวศรีได้อย่างง่ายดาย โดยฝ่ายไทยมิได้เตรียมการต่อสู้แต่อย่างใดแสดงถึงความอ่อนแอของไทย พม่าจึงตีหัวเมืองไทยต่อเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงราชธานี
ในการรับศึกพม่าครั้งนี้ พระเจ้าเอกทัศมิได้ทรงแสดงความสามารถในด้านการบัญชาการรบเลย ส่วนแม่ทัพนายกองของไทยก็อ่อนแอไม่สามารถต้านทานทัพพม่าได้ แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถมีความรักชาติบ้านเมือง ก็ไม่ได้รับความสะดวกในการสู้รบจึงเกิดความท้อถอย ดังเช่นพระยากตาก (สิน) ถึงกับตัดสินใจนำทหารประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปทางทิศตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังมาต่อสู้พม่า ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาต้องสูญเสียเอกราชแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 ซึ่งพม่ามารบพุ่งอย่างโจร เพราะพม่าไม่ได้คิดจะรักษาเมืองไทยไว้เป็นเมืองขึ้น หากแต่ต้องการจะริบเอาทรัพย์สมบัติและกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยไปใช้สอยในเมืองพม่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อพม่าตีเมืองไหนได้ก็เผาเสียทั้งเมืองน้อยเมืองใหญ่ตลอดจนราชธานี แล้วเลิกทัพกลับไป ดังนั้นการเสียกรุงครั้งที่ 2 นี้ บ้านเมืองจึงยับเยินยิ่งกว่าในสมัยเสียกรุงครั้งแรก ฝ่ายหัวเมืองต่างๆ ที่มิได้ถูกพม่าย่ำยี ก็ถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระถึง 5 ชุมนุม คือ ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชและชุมนุมพระยาตาก (หรือพระยาวชิรปราการ) พระยาตากได้รวบรวมสมัครพรรคพวก ทำการสู้รบขับไล่พม่า จนกระทั่งสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ แต่สภาพกรุงศรีอยุธยาทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ พระยาตากจึงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา








การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่าแล้ว สภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป เพราะ
1. กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายชำรุดทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณะให้ดีดังเดิมได้
2. กรุงศรีอยุธยามีบริเวณกว้างขวางมาก เกินกว่ากำลังของพระองค์ที่มีอยู่ เพราะผู้คนอาศัยอยู่ตามเมืองน้อย ส่วนมากหลบหนีพม่าไปอยู่ตามป่า จึงยากแก่การรักษาบ้านเมืองได้สะดวกและปลอดภัย
3. ข้าศึกโดยเฉพาะพม่ารู้ลู่ทางภูมิประเทศและจุดอ่อนของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการรบ
4. ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ ข้าศึกสามารถโจมตีได้สะดวก
5. กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมากเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงตัดสินใจเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วยสาเหตุสำคัญต่อไปนี้
1. กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ
2. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
3. สะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่างๆ ไปตามหัวเมืองหรือจากหัวเมืองเข้ามาช่วย เมื่อเกิดศึกสงคราม
4. ถ้าหากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังของทางกรุงธนบุรีจะต้านทานได้ก็สามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้ โดยอาศัยทางเรือได้อย่างปลอดภัย
5.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ ที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลืออยู่ สามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้บ้างที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือ คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์
ด้านการปกครอง
ลักษณะการปกครองของกรุงธนบุรี ดำเนินรอยตามแบบแผนของสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น
1.1 การปกครองส่วนกลางหรือราชธานี อยู่ในความรับผิดชอบของอัครมหาเสนนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม ดูแลฝ่ายทหาร และสมุหนายก ดูแลฝ่ายพลเรือน กับตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ตำแหน่ง คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา กรมทั้ง 4 นี้ มีหน้าที่ คือ
1) กรมเวียง มีหน้าที่ปกครองท้องที่ บังคับบัญชาบ้านเมือง และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
2) กรมวัง มีหน้าที่รับเกี่ยวกับราชสำนัก และพิจารณาพิพากษาคดีความของราษฎร
3) กรมคลัง มีหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจากส่วยอากร บังคับบัญชากรมท่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และมีหน้าที่เกี่ยวกับพระคลังสินค้าการค้าสำเภาของหลวง
4) กรมนา มีหน้าที่ดูแลการทำนา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวง และพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือและที่นา คำว่า “กรม” ในที่นี้หมายความคล้ายกับ “กระทรวง”ในปัจจุบัน
1.2 การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น
1) การปกครองหัวเมืองชั้นใน ที่อยู่รายรอบราชธานี เรียกว่า เมืองชั้นจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่า “ผู้รั้ง” ปฏิบัติตามคำสั่งของเสนาบดีจตุสดมภ์ในราชธานี
2) การปกครองหัวเมืองภายในราชอาณาจักร เรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นเมืองชื้นเอก โท ตรี
3) การปกครองหัวเมืองประเทศราช ที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอื่น ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามกำหนด ได้แก่ กัมพูชา ลาว เชียงใหม่ และนครศรีอธรรมราช

ด้านกฎหมายและการศาล
กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีความในศาลสมัยธนบุรี ใช้ตามแบบสมัยอยุธยาเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอยู่มีเพียงฉบับเดียว เกี่ยวกับการสักเลก คือ การลงทะเบียนชายฉกรรจ์เพื่อรับใช้ในราชการ เรียกว่า ไพร่หลวง การสักเลกในสมัยนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นระยะเวลาของการป้องกันและแผ่อำนาจเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ส่วนการศาลมักใช้บ้านของเจ้านาย บ้านของตุลาการ บางครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงเป็นผู้พิพากษาคดีเอง และทรงใช้ศาลทหารและพระบรมราชโองการเป็นกฎหมายใช้ในการตัดสินคดีความด้วย
ด้านเศรษฐกิจ
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้ว สภาพเศรษฐกิจของไทยตกต่ำมากประชาชนยากจนอัตคัดฝืดเคือง อาหารหายากและราคาแพง เนื่องจากในขณะที่เกิดศึกสงครามผู้คนต่างพากันหนีเอาตัวรอด การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักลง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะที่ตั้งกรุงธนบุรีใหม่ๆ ด้วยการจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวจากพ่อค้าต่างประเทศในราคาสูงเพื่อแจกจ่ายประชาชน และชักชวนให้ราษฎรกลับมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามเมืองต่างๆ ทำมาหากินดังแต่ก่อน นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังส่งเสริมทางด้านการค้าขาย มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศ อินเดียและประเทศใกล้เคียง สำหรับสิ่งของที่บรรทุกเรือสำเภาหลวงไปขาย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ และเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ในประเทศ เช่น ผ้าลายและถ้วยชามมาขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการค้าขายนี้เป็นแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังสินค้า หรือกรมาท่า มีการส่งเสริมให้ราษฎรทำการเพาะปลูก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
ด้านสังคม
สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะมีการทำศึกกับพม่าบ่อยครั้ง มีการสักเลกบอกชื่อสังกัดมูลนายและเมืองไว้ที่ข้อมือไพร่หลวงทุกคน ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ราชการปีละ 6 เดือน โดยการมารับราชการ 1 เดือน แล้วหยุดไปทำมาหากินของตนอีก 1 เดือนสลับกันไป เรียกว่า “การเข้าเดือนออกเดือน” ไพร่หลวงอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า “ไพร่ส่วย” คือ ไพร่หลวงที่ส่งสิ่งของแทนการใช้แรงงานแก่ราชการ ซึ่งเป็นพวกที่รับใช้แต่เฉพาะเจ้านายที่เป็นขุนนาง





ด้านศาสนา
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สิ่งสำคัญต่างๆ ในพระพุทธศาสนาถูกทำลายเสียหายมาก หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรี พระองค์ได้ฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่โดยชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ พระสงฆ์รูปใดที่ประพฤติไม่อยู่ในพระวินัยก็ให้สึกออกไปเสีย พระสงฆ์รูปใดประพฤติอยู่ในพระวินัยทรงอาราธนาให้บวชเรียนต่อไป นอกจากนี้ พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระอุโบสถ วิหาร เสาสนะ กุฏิสงฆ์และวัดวาอารามต่างๆ เช่น วันบางยี่เหนือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อพระองค์ทราบว่าพระไตรปิฎกมีอยู่ที่ใด ก็ทรงให้นำมาคัดลอกเป็นฉบับหลวงไว้ที่กรุงธนบุรี แล้วส่งต้นฉบับกลับไปเก็บไว้ที่เดิม ทรงให้ช่างจารพระไตรปิฎกทั้งจบ ที่สำคัญที่สุดทรงให้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม
เหตุการณ์ตอนปลายสมัยธนบุรี
ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระสติฟั่นเฟือนไป เข้าพระทัยว่าทรงบรรลุโสดาบัน และจะให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั่วแผ่นดินจากข้าราชการที่ทุจริตกดขึ่ข่มเหงหาประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุทำให้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ราษฎรต่างทิ้งบ้านเรือนหนีเข้าป่าไปเป็นอันมากขณะเดียวกันก็เกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทราบข่าวกบฏ จึงสั่งพระยาสรรค์ขึ้นไปสอบสวน แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าพวกกบฏ ยกพวกเข้าปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรี ในเดือนเมษายน 2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวชและคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และพระยาสรรค์ก็ตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน
ส่วนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กำลังจะยกทัพไปตีเมืองเสียมราฐ เมื่อทราบข่าวเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน 2325 เมื่อมาถึงกรุงธนบุรี พระองค์ได้ซักถามเรื่องราวความยุ่งยากที่เกิดขึ้น จึงให้ประชุมข้าราชการ ปรากฏว่าที่ประชุมลงความเห็นว่าให้สำเร็จโทษพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะนั้นทรงมีพระชนม์ 48 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี
ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงตรากตรำในการสู้รบ เพื่อรักษาและขยายของเขตแผ่นดินโดยมิได้ว่างเว้น จนสามารถขยายเป็นอาณาจักรใหญ่ในแหลมทองนี้ได้ พระองค์ทรงเป็นนักรบ มิได้ทรงมีโอกาสแม้แต่จะเสวยสุขสงบในบั้นปลายพระชนม์ชีพ เพราะได้เกิดกบฏพระยาสรรค์ขึ้นก่อน บ้านเมืองวุ่นวาย จนเป็นเหตุให้ทรงถูกสำเร็จโทษดังที่กรมหลวงนรินทรเทวีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุความทรงจำของท่านว่า “เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแท่น ปลายแผ่นดินแสนร้อย รุมสุมรากโคนโค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น