วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475


การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงที่เสียเลือดเนื้อได้
ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน
ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม
หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้าน
พระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ
หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น
โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็นหน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพหัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.
หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จาก
วังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.
หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟ
เรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที
หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นาย
ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว
แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน

การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป
หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุด
ทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร นิยมเรียกกันว่า หมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
ในยุคนั้น ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทย และมีการประพันธ์เพลง "
วันชาติ 24 มิถุนา" โดยครูมนตรี ตราโมท ไว้ด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น